พันท้ายนรสิงห์


วันนี้ (10 มกราคม 2550) ผมอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในคอลัมน์ “ชักธงรบ” ของคุณ “กิเลน ประลองเชิง” ซึ่งคุณกิเลน ประลองเชิงได้เขียนเรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” ครับ อ่านดูแล้วก็มีความรู้สึกเห็นด้วยกับข้อเขียนนี้เป็นอย่างยิ่ง

กลับมาถึงบ้านก็เลยออนไลน์เพื่อลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับพันท้ายนรสิงห์จากเว็บเสิร์ชเอ็นจิ้นสุดดัง “กูเกิ้ล” ก็พบลิงค์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพันท้ายนรสิงห์ถึงประมาณ 25,100 ลิงค์ทีเดียวครับ น่าปลื้มใจไม่น้อยว่าชีวประวัติและคุณงามความดีของคนดีแบบท่านนี้ มีผู้ที่เห็นความสำคัญและนำมาลงในอินเทอร์เน็ตให้คนอื่นๆได้อ่านและจดจำไว้เป็นแบบอย่างครับ

จากนี้ไปผมใคร่ขออนุญาตเจ้าของเว็บที่ผมเข้าไปอ่านคือ www.eduzones.com, ผู้คัดสรรบทความ คุณนงนุช สมิทธิ์เมธีรักษ์ (ez002) และผู้เขียนเรื่องคือคุณทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ขอคัดลอกข้อความบางส่วนมาให้สำหรับน้องๆหลานๆที่ไม่เคยทราบเรื่องราวของท่านได้อ่านกันครับ ส่วนท่านที่ต้องการอ่านเนื้อเรื่องเต็มๆ ก็ขอเชิญคลิกที่นี่เพื่อไปยังบทความได้เลยครับ

ส่วนเนื้อหาที่ผมขออนุญาตคัดมาเล่าให้ฟังเป็นดังนี้ครับ

“…พันท้ายนรสิงห์ เป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งเอกไชยอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีและรักษาระเบียบวินัยยิ่งชีวิต สมควรเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป

เรื่องราวของพันท้ายปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุศรีอยุธยาฉบับต่างๆ เนื้อความเป็นไปในแบบเดียวกัน ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ใน พ.ศ. 2247 สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 8 ประพาสปากน้ำสาครบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสาคร) เพื่อทรงเบ็ด ด้วยเรือพระที่นั่งเอกไชย มีพันท้ายนรสิงห์เป็นนายท้าย…

…เมื่อเรือพระที่นั่งไปถึงตำบลโคกขาม คลองบริเวณดังกล่าวมีความคดเคี้ยวมาก พันท้ายนรสิงห์พยายามคัดท้ายเรือพระที่นั่งอย่างระมัดระวังแต่ไม่อาจหลบเลี่ยงอุบัติเหตุได้ หัวเรือพระที่นั่งชนกิ่งไม้ใหญ่หักตกลงไปในน้ำ พันท้ายนรสิงห์รู้โทษดีว่าความผิดครั้งนี้ถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณี ซึ่งกำหนดว่าถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหัก ผู้นั้นถึงมรณะโทษให้ตัดศีรษะเสีย จึงกราบทูลพระกรุณาน้อมรับโทษตามพระราชประเพณี

สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นการสุดวิสัยมิใช่ความประมาท จึงพระราชทานอภัยโทษให้ แต่พันท้ายนรสิงห์กราบบังคมยืนยันขอให้ตัดศีรษะตนเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมาย เป็นการป้องกันมิให้ผู้ใดครหาติเตียนพระเจ้าอยู่หัวได้ว่าทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดินและเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป

สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ แล้วให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเพื่อเป็นการทดแทนกัน แต่พันท้ายนรสิงห์ยังบังคมกราบทูลยืนยันขอให้ประหารตน แม้สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 8 จะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใดก็ทรงจำพระทัยปฎิบัติตามพระราชกำหนด ดำรัสสั่งให้เพชฌฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์แล้วโปรดให้ตั้งศาลสูงประมาณเพียงตา นำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกไชยซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาล

ภายหลังเหตุการณ์ สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 8 ทรงโปรดให้นำศพพันท้ายนรสิงห์มาแต่งกายพระราชทานเพลิงศพ และพระราชทานเงินทองสิ่งของแก่บุตรภรรยาพันท้ายนรสิงห์เป็นจำนวนมาก แล้วทรงพระราชดำริว่าคลองโคกขามคดเคี้ยวนักไม่สะดวกต่อการเดินเรือ บางครั้งชาวเมืองต้องเดินเรืออ้อมเป็นที่ลำบากยิ่ง สมควรจะขุดลัดตัดตรง ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงพันท้ายนรสิงห์ข้าหลวงเดิมซึ่งเป็นคนซื่อสัตย์ มั่นคง ยอมเสียสละชีวิตโดยไม่ยอมเสียพระราชประเพณี และจะนำความเสื่อมเสียมาให้พระมหากษัตย์ จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งสมุหนายกให้กะเกณฑ์เลกหัวเมืองจำนวนสามหมื่นคนไปขุดคลองโคกขามให้ลัดตรง กำหนดให้ลึก 6 ศอก ปากคลองกว้าง 8 วา พื้นคลองกว้าง 5 วา ให้พระราชสงครามเป็นแม่กลองอำนวยการขุดสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวไว้ในชุมนุมพระนิพนธ์ว่า พระราชสงครามให้ขุดแต่ปากคลองทางลำน้ำท่าจีนมาจนถึงตำบลโคกขาม แต่การขุดค้างอยู่มาสำเร็จลงในราชกาลต่อมา ปรากฎเป็นคลองตรงและกว้างใหญ่เรียกว่าคลองมหาชัย อยู่ตราบเท่าอยู่ทุกวันนี้

นี่คือความจงรักภักดีของพันท้ายนรสิงห์ท้ายนรสิงห์ที่มีต่อเจ้าเหนือหัวและความซื่อสัตย์ ที่มีต่อกฎหมายบ้านเมือง ยอมตายเพื่อมิให้กฎหมายบ้านเมืองคลายความศักดิ์สิทธิ์

คุณกิเลน ประลองเชิงเขียนไว้ท้ายคอลัมน์ว่า “…พันท้ายนรสิงห์ คงเป็นหนึ่งเดียวในสมัยอยุธยา ที่ยอมถวายชีวิตให้เจ้าเหนือหัว เพื่อรักษากฎกติกาให้ดำรงคงอยู่อย่างศักดิ์สิทธิ์ มาถึงยุคสมัยนี้ นอกจากไม่มีคนแบบพันท้ายนรสิงห์แล้ว ไม่น่าเชื่อว่า ส่วนใหญ่มีแต่คนที่เอาชีวิตเข้าแลกกับการแหกกฎกติกา…”

เห็นด้วยอย่างเต็มที่เลยครับ! และไม่แต่เฉพาะในระดับประเทศเท่านั้น ในระดับองค์กรธุรกิจ ห้างร้าน หน่วยงานต่างๆทั้งราชการและเอกชน ต่างก็มีแต่พวกที่ “ส่วนใหญ่เอาชีวิตเข้าแลกกับการแหกกฏกติกา” หรือไม่ก็พวกที่ “พยายามแก้ไขกฏกติกาให้พ้องกับการกระทำของตัวเพื่อให้ตัวพ้นผิด” กันทั้งนั้น

ที่ตัดสินใจเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพราะว่าอยากจะเตือนตัวเอง และฝากถึงเพื่อนพ้องน้องพี่และคนอื่นๆ ที่จับพลัดจับผลูหลงเข้ามาอ่าน ให้ลองคิดกันสักนิดดูว่า ตลอดปีที่ผ่านมานั้น พวกเราบางคนได้ทำอะไรลงไปบางอย่างและอ้างว่าทำเพื่อในหลวง (ผลเป็นอย่างไรจนเดี๋ยวนี้ก็เห็นๆกันอยู่) พวกเราทุกคนพูดกันว่าเรารักในหลวง เรารักพ่อ พวกเราหลายคนใสเสื้อสีเหลือง สีชมพู มีข้อความ “เรารักในหลวง” บ้าง “ทรงพระเจริญ” บ้าง บางคนคาดสายรัดข้อมือสีเหลืองคนละเส้นถึงหลายๆเส้นนั้น จนถึงบัดนี้เราได้ทำอะไรเพื่อ “พ่อ” ของเราจริงๆแล้วหรือยัง? ขณะนี้น่าจะถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่พวกเราจะเลิกทะเลาะเบาะแว้ง เลิกการกระทำที่เป็นการเอาชีวิตเข้าแลกกับการแหกกฏกติกาเพื่อประโยชน์เฉพาะตนและหมู่พวกของตน แล้วมา… ไม่ต้องถึงกับยอมตายเพื่อรักษากฏหมายอย่างท่านพันท้ายนรสิงห์หรอกครับ แค่ขอให้เลิกทะเลาะเบาะแว้งกัน เลิกแบ่งเขาแบ่งเรา แล้วหันมาร่วมแรงร่วมใจร่วมมือกัน พัฒนาตนเอง พัฒนาฝีมือและผลงานของตนเอง ช่วยเหลือผู้อื่นให้มากขึ้น เมื่อพัฒนาตัวเองได้แล้วก็มาพัฒนาองค์กรที่ตนสังกัด แล้วก็พัฒนาประเทศชาติให้ดียิ่งขึ้น จนขึ้นมาผงาดเป็นที่หนึ่งในภูมิภาคนี้กันสักทีจะดีกว่าไหมครับ

อย่ารอให้ต้อง “เสียกรุง” เสียก่อนแล้วค่อยมาคิด “กู้เอกราช” กันเลยครับ สมัยนี้การกู้เอกราชไม่ง่ายเพียงแค่ “ขับไล่” ผู้มารุกรานออกไปให้พ้นประเทศก็กู้เอกราชได้สำเร็จแล้วนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกู้เอกราชทางเศรษฐกิจด้วยแล้ว เพราะถ้าหากจะต้อง “ขับไล่” ผู้มารุกรานออกไปแล้วล่ะก็ คงไม่แค่จะต้องไล่ให้พ้นประเทศแล้วครับ คงจะต้องไล่ให้ออกไปอยู่ที่ดาวดวงอื่นกันเลยทีเดียว

วันนี้ขอเขียนข้อเขียนที่ค่อนข้างซีเรียสสักวันหนึ่งเถอะครับ

ใส่ความเห็น